มรรคจิต ผลจิต#ทางมรรคผลนิพพาน#การเกิดอริยมรรค#ทางพ้นทุกข์ วิมุตติ คือ ความหลุดพ้นจากกิเลสหรือหลุดพ้นจากวัฏฏสงสาร หรือรู้ธรรมเห็นธรรมบรรลุมรรคผลนิพพาน นักปฏิบัติธรรมที่ประสบความสำเร็จจะต้องบรรลุวิมุติและวิมุตติญาณทัสสนะขั้นสูงสุด จึงจะจบการศึกษาเป็นอเสกขะบุคคล วิมุตติมี 3 อย่างคือ 1. เจโตวิมุตติ คือหลุดพ้นด้วยอำนาจแห่งสมาธิเป็นหลัก นักปฏิบัติผู้มีนิสัยวาสนาทางเจโตวิมุตติ จะบรรลุธรรมได้ด้วยตนเองอย่างวิเศษอัศจรรย์ แม้ผู้นั้นจะไม่ได้ศึกษาทางปริยัติมาเลย เมื่อฝึกอบรมจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิได้แล้ว จะสามารถรู้ธรรมเห็นธรรมเข้าใจธรรมในขณะจิตเป็นสมาธิอยู่นั้นอย่างแจ่มแจ้งโดยไม่ต้องถามใคร สติปัญญาศรัทธาความเพียรจะแก่กล้าขึ้นเป็นลำดับ บางครั้งก็เกิดความรู้พิเศษอัศจรรย์ซึ่งเป็นฌานโลกีย์เกิดขึ้น เช่นหูทิพย์ ตาทิพย์ มีฤทธิ์ทางใจอื่นๆ เกิดขึ้นเป็นที่ฮือฮามาก ผู้มีนิสัยทางเจโตวิมุตติ จิตจะรวมเป็นสมาธิเร็วและมีนิมิตมาก กิเลสต่างๆ และธรรมเครื่องแก้กิเลสจะรู้ได้เห็นได้จากการพิจารณานิมิต อยากเห็นอะไรอยากรู้อะไรก็กำหนดดูในสมาธิ จนรู้ชัดเห็นชัดเข้าใจชัดโดยไม่ต้องถามใคร เมื่อความรู้รอบคอบครบวงจรอริยสัจสี่ ก็สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ข้อควรระวังของผู้มีนิสัยวาสนาทางเจโตวิมุตติ คือการหลงความรู้(ฌาน) โดยเฉพาะความรู้ที่เกิดจากฌานโลกีย์ข้อต้นๆ มันอัศจรรย์น่าติดใจหลงใหลมาก ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ที่รู้จริงเห็นจริงคอยควบคุมดูแล อาจเกิดวิปลาสได้ หรืออาจหลงใช้ฌานโลกีย์ไปในทางผิดศีลผิดธรรม ทำให้ฌานเสื่อมก่อนฌานที่โลกุตรธรรม คืออาสะวักขยะญาณจะเกิดขึ้นมีขึ้น นักบวชนักปฏิบัติที่เสียคนไปเพราะหลงญาณโลกีย์มีจำนวนมาก ต้องระวังให้ดี 2. ปัญญาวิมุตติ คือหลุดพ้นด้วยอำนาจแห่งปัญญา ผู้มีนิสัยวาสนาทางปัญญาวิมุตติตอนเริ่มฝึกสมาธิจิตมักฟุ้งซ่าน ไม่รวมลงง่ายๆ เมื่อรวมเป็นสมาธิแล้วก็ไม่ค่อยมีนิมิตเกิดขึ้น บางคนไม่เห็นนิมิตอะไรเลย ได้ยินสายเจโตพูดกันว่าเกิดนิมิตบอกว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ก็อยากจะเห็นกับเขาบ้าง ซึ่งยิ่งอยากก็ยิ่งไม่เห็นไม่เป็น ทำให้ลังเลสงสัยว่าตนเองไม่มีวาสนาพอที่จะรู้ธรรมเห็นธรรมบรรลุธรรม เลิกการปฏิบัติธรรมไปเสียก็มี นักปฏิบัติสายปัญญาวิมุตติอาศัยสมาธิเพียงเล็กน้อยก็พิจารณาทางปัญญาได้ ไม่จำเป็นต้องให้จิตรวมลึกเป็นอุปจารสมาธิ ก็สามารถรู้ธรรมเห็นธรรมบรรลุธรรมได้ กรรมฐานที่เหมาะกับคนนิสัยนี้คือ กรรมฐานตามรู้และวิปัสสนากรรมฐานเมื่อทำจิตให้สงบจดจ่ออยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียวได้แล้ว ให้พิจารณาสิ่งต่างๆ ให้เห็นนามรูป เห็นไตรลักษณ์ เห็นโทษภัย เห็นความเสื่อมสลายของสังขารทั้งหลาย จนเกิดนิพพิทาญาณ แล้วพิจารณาสังขารทั้งหลายที่มีอยู่ให้เห็นส่วนละเอียด โยงเข้าสู่อริยสัจสี่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค วิมุตติ วิมุตติญาณทัสนะ โดยอาศัยความจำที่มีอยู่เห็นอยู่ตามปกติในชีวิตประจำวันเป็นฐานในการพิจารณา พิจารณากลับไปกลับมาหลายๆ ครั้ง ความรู้จะละเอียดขึ้นเรื่อยๆ จนรู้แจ้งแทงตลอดในเรื่องนั้นโดยเหตุโดยผลตามความเป็นจริง รู้จักเหตุปัจจัยของสิ่งต่างๆ แจ้งชัดและสุดท้ายจะรู้จักวิธีทำกิเลสให้สิ้นได้เช่นเดียวกัน แต่ไม่ค่อยเป็นที่อือฮาเหมือนสายเจโตวิมุตติ 3. อุภภะโตภาควิมุตติ คือผู้หลุดพ้นได้ทั้งสองแบบ เจโตวิมุตติก็ได้ ปัญญาวิมุตติก็ได้ ส่วนใหญ่จะเป็นนิสัยวาสนาของผู้เคยบำเพ็ญพุทธภูมิมาก่อน ชำนาญในการฝึกจิตมาแล้วทั้งสองแบบ เมื่ออธิษฐานกกลับ คือเปลี่ยนใจสละพุทธภูมิ มาปรารถนาความหลุดพ้นแบบสาวกภูมิ ก็สามารถรู้ธรรมเห็นธรรมเข้าใจธรรมได้ง่ายไม่ว่าจะดำเนินตามแนวไหน เจโตวิมุตติหรือปัญญาวิมุตติ มักจะเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์และปฏิสัมภิทา มักจะเป็นผู้มีจิตใจกว้างขวางไม่ตำหนิผู้ใด เป็นครูเป็นอาจารย์แนะนำแนวทางปฏิบัติธรรมให้แก่ลูกศิษย์ได้หลายจริตนิสัย ใครได้พบได้เห็นครูอาจารย์ผู้มีอุปนิสัยวาสนาสายอุภภะโตภาควิมุตติ มักจะประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรมคือ สามารถรู้ธรรมเห็นธรรมเข้าใจธรรมบรรลุมรรคผลนิพพานตามที่ปรารถนา ใครได้พบครูอาจารย์สายนี้จึงเป็นโชคดีของคนนั้น พระอริยบุคคลผู้รู้ธรรมเห็นธรรมบรรลุมรรคผลในระดับที่เท่ากันไม่ว่าดำเนินการปฏิบัติมาสายไหน ความบริสุทธิ์แห่งจิตมีเท่ากัน คือละกิเลส พ้นทุกข์ได้เท่ากัน แต่ความคล่องแคล่วชำนิชำนาญ ความละเอียดรอบคอบอาจจะแตกต่างกัน ความเห็นบางอย่างอาจไม่เหมือนกันเสียทีเดียวบางทีสายเจโตกับสายปัญญาอาจมีความเห็นไม่ลงรอยกัน สงสัยการปฏิบัติของกันและกัน ท่านให้ผู้ปฏิบัติธรรมระมัดระวัง อย่าให้อติมานะ การดูหมิ่นและประมาทผู้อื่นเกิดขึ้น จะเป็นสักคาวร มรรคาวร คือเป็นบาปกรรมห้ามสวรรค์ ห้ามมรรคผลของตนเอง ท่านว่า “ผู้มีศีลจะรู้ได้ เมื่อได้อยู่ร่วมกัน ผู้มีปัญญาจะรู้ได้เมื่อได้สนทนากัน” ต้องระลึกไว้เสมอว่า “การรู้ธรรมเห็นธรรมบรรลุมรรคผลเป็นปัจจัตตัง” คือรู้ได้เฉพาะตนของใครของมัน อิทธิฤทธิ์ โวหาร ปฏิภาณ ปฏิสัมภิทา ลาภสักการะ เป็นบารมีแต่ละคนที่สะสมมาเปรียบเทียบกันไม่ได้ แข่งขันกันไม่ได้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทางไปสู่พระนิพพาน 18 ธ ค 57 ค่ำ โดยหลวงพ่ออินทร์ถวาย ณ สวนแสงธรรม

การเกิดมรรคผล

มรรคผลนิพพานไม่ไกลนะ มันไกลสำหรับคนซึ่งไม่รู้จักวิธี#จิตก็ทรงสติปัญญามากขึ้นๆนะ #ตอนที่อริยมรรคจะเกิดเนี่ยไม่ได้ไปรู้รูปนามหรอก #จิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิตัดการรับรู้ที่แผ่กว้างออกทางตาหูจมูกลิ้นกาย ตัดการรับรู้อันนั้นออกแล้วรวมลงมาที่ใจอันเดียวเห็นไหมสมาธิสำคัญนะ ที่เราฝึกให้มีตัวรู้ๆ เวลาเกิดอริยมรรคมันมาเกิดที่ตัวรู้นี่แหละไม่ไปเกิดที่อื่นหรอก ถ้าเราไม่มีตัวรู้ มีแต่ตัวร่อนเร่ ไปเกิดที่โน่นที่นี่ นั่นเรียกเวียนว่ายตายเกิด ไปเกิดที่อื่น งั้นเราฝึกให้มีตัวรู้ขึ้นมา ท่านจึงสอนในอภิธรรมสอน สัมมาสมาธิเป็นภาชนะที่รองรับองค์มรรคทั้ง ๗ ที่เหลือเข้าด้วยกัน เป็นที่ประชุมขององค์มรรค งั้นจิตประชุมที่ไหน? ประชุมที่จิต ประชุมด้วยอำนาจของสัมมาสมาธิ จิตที่มันตั้งมั่น แล้วสติเกิดที่ไหน? ที่จิต สัมมาสติ สัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ สัมมาทั้งหลายแหล่เกิดลงที่จิตอันเดียวเลย ประชุมลงที่จิตอันเดียวเลย สัมมาวาจาไม่ได้ไปอยู่ที่ปากแล้ว แต่อยู่ที่จิต สังเกตไหมก่อนปากพูดจิตพูดก่อน สัมมาวาจาตอนที่อริยมรรคเกิดมันพูดอะไรรู้ไหม? มันพูดอย่างนี้ “ ” ได้ยินไหม เนี่ยสัมมาวาจา ถ้ายังอ้าแง๊บๆๆๆเนี่ยมิจฉาวาจานะ งั้นประชุมลงที่จิตเลย องค์มรรค ๘ ประการรวมลงที่จิตอันเดียวด้วยอำนาจของสัมมาสมาธินั่นเองนะ ตรงนี้อัตโนมัติทั้งหมดเลย สติระลึกรู้อยู่แค่จิตโดยไม่เจตนาระลึก สมาธิตั้งมั่นอยู่กับจิตโดยไม่เจตนาตั้งมั่น ปัญญานี่หยั่งซึ้งลงไปในจิต เห็นการทำงานภายในจิตอีกโดยไม่เจตนา สติ สมาธิ ปัญญา รวมลงที่เดียวนี้เอง อริยมรรคก็เกิด ถ้ายังกระจายๆอยู่ไม่เกิดอริยมรรค อริยมรรคมีองค์ ๘ ถามว่าอริยมรรคมีเท่าไหร่ มี ๑ เท่านั้นนะ เวลาเกิดอริยมรรคมี ๑ เท่านั้น แต่มีองค์ประกอบ ๘ อย่าง มรรคไม่ได้มี ๘ มรรคนะ แต่ว่าการเกิดอริยมรรคจะเกิด ๔ ครั้ง โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามีมรรค อรหัตมรรค มรรคแต่ละครั้งเกิด ๑ ขณะจิตเท่านั้น ไม่เกิด ๒ ขณะจิต