“ทุกข์” ในศาสนาพุทธ › ธรรมะเพื่อความพ้นทุกข์เสขปฏิปทาสูตร ว่าด้วยผู้มีเสขปฏิปทา ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตเมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ. ก็สมัยนั้น สัณฐาคารใหม่ที่พวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ให้สร้างแล้วไม่นาน อันสมณพราหมณ์ หรือมนุษย์ผู้ใดผู้หนึ่งยังมิได้เคยอยู่เลย. ครั้งนั้น พวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอประทานพระวโรกาส สัณฐาคารใหม่อัน พวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ให้สร้างแล้วไม่นาน อันสมณพราหมณ์หรือมนุษย์ผู้ใดผู้หนึ่งยังมิได้ เคยอยู่เลย ขอเชิญพระผู้มีพระภาคทรงบริโภคสัณฐาคารนั้นเป็นปฐมฤกษ์ พระผู้มีพระภาค ทรงบริโภคเป็นปฐมฤกษ์แล้ว พวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์จักบริโภคภายหลัง ข้อนั้น พึงมี เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่พวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์สิ้นกาลนาน. พระผู้มีพระภาค ทรงรับด้วยดุษณีภาพ. ลำดับนั้น พวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ ทราบการรับของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกขึ้นจาก อาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วเข้าไปยังสัณฐาคารใหม่ แล้วสั่งให้ ปูลาดสัณฐาคารให้มีเครื่องลาดทุกแห่ง ให้แต่งตั้งอาสนะ ให้ตั้งหม้อน้ำ ให้ตามประทีปน้ำมัน แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายปูลาด สัณฐาคาร ให้มีเครื่องลาดทุกแห่ง แต่งตั้งอาสนะ ตั้งหม้อน้ำ ตามประทีปน้ำมันแล้ว บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงทราบกาลอันควรเถิด. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จเข้าไปยังสัณฐาคาร ทรงชำระพระบาทยุคลแล้ว เสด็จเข้าไปสู่สัณฐาคาร ประทับนั่ง พิงเสากลาง ทรงผินพระพักตร์ตรงทิศบูรพา. แม้ภิกษุสงฆ์ชำระเท้าแล้ว เข้าไปสู่สัณฐาคาร แล้วนั่งพิงฝาด้านทิศปัจจิม ผินหน้าเฉพาะทิศบูรพาแวดล้อมพระผู้มีพระภาค. แม้พวกเจ้าศากยะ เมืองกบิลพัสดุ์ ชำระพระบาทแล้ว เสด็จเข้าไปสู่สัณฐาคาร ประทับนั่งพิงฝาด้านทิศบูรพา ผินพักตร์เฉพาะทิศปัจจิม แวดล้อมพระผู้มีพระภาค. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงยังพวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถาตลอดราตรีเป็นอันมาก แล้วตรัสเรียกท่านพระอานนท์มาว่า ดูกรอานนท์ ปฏิปทาของเสขบุคคลจงแจ่มแจ้งกะเธอ เพื่อพวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ เถิด เราเมื่อยหลัง เราจักเหยียดหลังนั้น ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาค- *โปรดให้ปูลาดผ้าสังฆาฏิเป็น ๔ ชั้น สำเร็จสีหไสยาสน์ ด้วยพระปรัสเบื้องขวา ทรงซ้อนพระบาท เหลื่อมพระบาท มีพระสติสัมปชัญญะ ทรงมนสิการสัญญาในอันเสด็จลุกขึ้น. ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์เชิญท้าวมหานามศากยะมาว่า ดูกรมหานาม อริยสาวก ในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณใน โภชนะ ประกอบความเพียรเครื่องตื่น ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ เป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันเป็นธรรมอาศัยซึ่งจิตอันยิ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม ตามความปรารถนา เป็นผู้ได้ โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก. ดูกรมหานาม อย่างไร อริยสาวกจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล อริยสาวก ในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมารยาทและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ดูกรมหานาม อย่างนี้แล อริยสาวกชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล. ดูกรมหานาม อย่างไร อริยสาวกจึงจะชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อม ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยโสตแล้ว ... ดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว ... ลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว ... ถูกต้องโผฏฐัพพะ ด้วยกายแล้ว ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อ สำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัส ครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ดูกรมหานาม อย่างนี้แล อริยสาวกชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย. ดูกรมหานาม อย่างไร อริยสาวกจึงจะชื่อว่าเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ อริยสาวก ในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วกลืนกินอาหาร ไม่ใช่เพื่อจะเล่น เพื่อจะมัวเมา เพื่อความผ่องใส เพื่อความงดงาม เพียงเพื่อความดำรงอยู่แห่งกายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไปได้ เพื่อบำบัดความอยากอาหาร เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยคิดว่า จักกำจัดเวทนาเก่าเสียด้วย จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้นด้วย ความเป็นไปแห่งอิริยาบถ ความเป็นผู้ไม่มีโทษ และความอยู่ เป็นผาสุกจักมีแก่เรา ดูกรมหานาม อย่างนี้แล อริยสาวกชื่อว่าเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ. ดูกรมหานาม อย่างไร อริยสาวกจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตื่น อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เวลากลางวันชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นจิต ด้วยการเดิน การนั่ง เวลากลางคืน ในปฐมยาม ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นจิต ด้วยการเดิน การนั่ง เวลากลางคืน ในมัชฌิมยาม สำเร็จสีหไสยาสน์โดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ มนสิการสัญญาในอันที่จะลุกขึ้น เวลากลางคืน ในปัจฉิมยาม ลุกขึ้นแล้ว ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นจิต ด้วยการเดิน การนั่ง ดูกรมหานาม อย่างนี้แล อริยสาวกชื่อว่าเป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตื่น. ดูกรมหานาม อย่างไร อริยสาวกจึงชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ คืออริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ๑. เป็นผู้มีศรัทธา คือเชื่อความตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มี- *พระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไป ดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและ มนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม. ๒. เป็นผู้มีหิริ คือ ละอายกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ละอายต่อการถึงพร้อม แห่งอกุศลธรรมอันลามก. ๓. เป็นผู้มีโอตตัปปะ คือ สะดุ้งกลัวกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต สะดุ้งกลัว ต่อการถึงพร้อมแห่งอกุศลธรรมอันลามก. ๔. เป็นพหูสูต ทรงธรรมที่ได้สดับแล้ว สั่งสมธรรมที่ได้สดับแล้ว ธรรมเหล่าใดงาม ในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ธรรมทั้งหลายเห็นปานนั้น อันท่านได้สดับมามาก ทรงจำไว้ได้ สั่งสมด้วยวาจา ตามเพ่งด้วยใจ แทงตลอดด้วยดี ด้วยความเห็น. ๕. เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม มีความ เข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย. ๖. เป็นผู้มีสติ คือ ประกอบด้วยสติและปัญญาเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง ระลึกได้ ตามระลึกได้ แม้ซึ่งกิจการที่ทำไว้แล้วนาน แม้ซึ่งถ้อยคำที่พูดไว้แล้วนาน. ๗. เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญา อันเห็นความเกิดและความดับ อันเป็น อริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ดูกรมหานาม อย่างนี้แล อริยสาวกชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ. ดูกรมหานาม อย่างไร อริยสาวกจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ได้ฌานทั้ง ๔ อันเป็นธรรม อาศัยซึ่งจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม ตามความปรารถนา เป็นผู้ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกายเพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริย ทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติ บริสุทธิ์อยู่ ดูกรมหานาม อย่างนี้แล อริยสาวกชื่อว่าเป็นผู้ได้ฌานทั้ง ๔ อันเป็นธรรมอาศัย ซึ่งจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมตามความปรารถนา เป็นผู้ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก. ดูกรมหานาม เพราะอริยสาวกเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลอย่างนี้ คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลายอย่างนี้ รู้จักประมาณในโภชนะอย่างนี้ ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอย่างนี้ ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ อย่างนี้ เป็นผู้ได้ฌานทั้ง ๔ อันเป็นธรรมอาศัยซึ่งจิตอันยิ่ง เป็น เครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม ตามความปรารถนาเป็นผู้ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก อย่างนี้ บัณฑิตจึงกล่าวอริยสาวกนี้ว่าเป็นผู้มีเสขปฏิปทา ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมซึ่งเป็นดุจฟองไข่ที่ไม่เน่า ควรจะชำแรกกิเลส ควรจะตรัสรู้ ควรจะบรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากกิเลสเครื่องประกอบ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า. ดูกรมหานาม เปรียบเหมือนฟองไข่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ฟองไข่เหล่านั้น แม่ไก่นอนทับ กก อบให้ได้ไออุ่นดีแล้ว ถึงแม่ไก่นั้นจะไม่เกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า ขอลูกไก่เหล่านี้พึงทำลายเปลือกไข่ด้วยปลายเล็บเท้าหรือด้วยจะงอยปาก ออกได้โดยสะดวกเถิด ดังนี้ ลูกไก่ภายในเปลือกไข่นั้นก็คงทำลายเปลือกไข่ออกได้โดยสวัสดี ฉันใด ดูกรมหานาม อริยสาวกก็ฉันนั้นเพราะท่านเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลอย่างนี้ คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอย่างนี้ รู้จักประมาณในโภชนะอย่างนี้ ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอย่างนี้ ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ อย่างนี้ เป็นผู้ได้ฌานทั้ง ๔ อันเป็นธรรมอาศัยซึ่งจิตอันยิ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม ตามความปรารถนา เป็นผู้ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบากอย่างนี้ บัณฑิตจึงกล่าวอริยสาวกนี้ว่า เป็นผู้มีเสขปฏิปทา ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมซึ่งเป็นดุจฟองไข่ที่ไม่เน่า ควรจะชำแรกกิเลส ควรจะ ตรัสรู้ ควรจะบรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากกิเลสเครื่องประกอบ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า. ดูกรมหานาม อริยสาวกนั้นอาศัยจตุตถฌาน มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ ไม่มี สิ่งอื่นยิ่งกว่านี้อย่างเดียว ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติ บ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็น อันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์ อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์ อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึก ถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ข้อนี้เป็นความ แตกฉานแห่งฌานข้อที่หนึ่งของอริยสาวกนั้น เปรียบเหมือนลูกไก่เจาะเปลือกไข่ออก ฉะนั้น. ดูกรมหานาม อริยสาวกนั้นอาศัยจตุตถฌาน มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ไม่มี สิ่งอื่นยิ่งกว่านี้อย่างเดียว เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียน พระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะ กายแตก เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจ สัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็น หมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษ์อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการ ฉะนี้ ข้อนี้ เป็นความแตกฉานแห่งฌานข้อที่สองของอริยสาวกนั้น เปรียบเหมือนลูกไก่เจาะ เปลือกไข่ออก ฉะนั้น. ดูกรมหานาม อริยสาวกนั้นอาศัยจตุตถฌาน มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ ไม่มี สิ่งอื่นยิ่งกว่านี้อย่างเดียว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้ เพราะ อาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ข้อนี้เป็นความแตกฉานแห่ง ฌานข้อที่สามของอริยสาวกนั้น เปรียบเหมือนลูกไก่เจาะเปลือกไข่ออก ฉะนั้น. ความเป็นผู้มีวิชชาและจรณะ ดูกรมหานาม แม้ข้อที่อริยสาวกเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลนี้ ก็เป็นจรณะของเธอ ประการหนึ่ง แม้ข้อที่อริยสาวกเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายนี้ ก็เป็นจรณะของเธอ ประการหนึ่ง แม้ข้อที่อริยสาวกเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง แม้ข้อที่อริยสาวกเป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตื่นนี้ ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง แม้ข้อที่ อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการนี้ ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง แม้ข้อที่ อริยสาวกเป็นผู้ได้ฌานทั้ง ๔ อันเป็นธรรมอาศัยซึ่งจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม ตามความปรารถนา เป็นผู้ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบากนี้ ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง แม้ข้อที่ อริยสาวกระลึกชาติก่อนๆ ได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณ อย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้ง อาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ นี้ก็เป็นวิชชาของเธอประการหนึ่ง แม้ข้อที่อริยสาวก เห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียน พระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะ กายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของ มนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้ นี้ก็เป็นวิชชาของเธอประการหนึ่ง แม้ข้อที่อริยสาวกทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ซึ่งปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลาย สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ นี้ก็เป็นวิชชาของเธอประการหนึ่ง. คาถาสนังกุมารพรหม ดูกรมหานาม อริยสาวกนี้ บัณฑิตสรรเสริญว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาแม้เพราะเหตุนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจรณะแม้เพราะเหตุนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะแม้เพราะเหตุนี้ แม้ สนังกุมารพรหมก็ได้กล่าวคาถาไว้ว่า ในชุมชนที่ยังรังเกียจกันด้วยโคตร กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐสุด ในหมู่เทวดาและมนุษย์ ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ประเสริฐสุด. ดูกรมหานาม คาถานั้น สนังกุมารพรหมขับดีแล้ว มิใช่ขับชั่ว กล่าวดีแล้ว มิใช่กล่าวชั่ว ประกอบด้วยประโยชน์ มิใช่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พระผู้มีพระภาคทรงอนุมัติ แล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นแล้ว ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า สาธุๆ อานนท์ เธอได้กล่าวเสขปฏิปทาแก่พวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ ดีแล. ท่านพระอานนท์ได้กล่าวภาษิตนี้จบลงแล้ว พระศาสดาทรงยินดี พวกเจ้าศากยะ เมือง กบิลพัสดุ์ ชื่นชม ยินดี ภาษิตของท่านพระอานนท์ ดังนี้แล. จบ เสขปฏิปทาสูตร ที่ ๓

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทางไปสู่พระนิพพาน 18 ธ ค 57 ค่ำ โดยหลวงพ่ออินทร์ถวาย ณ สวนแสงธรรม

สภาพของเรา#พระโสดาบันคือท่านผู้เห็นความจริงว่าตัวเราไม่มี #เรียกว่าละสกายทิฐิได้ท่านเห็นว่าตัวเราไม่มีนะกายนี้ไม่ใช่เราใจนี้ไม่ใช่เรา ในกายนี้ ในใจนี้ ไม่มีตัวเรา กายนี้ใจนี้ก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่มีตัวเรานอกเหนือจากกายจากใจนี้อีก #สิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นตัวเราอยู่ตลอดเวลาก็คือกายนี้ใจนี้เท่านั้นแหละ รูปนาม ขันธ์๕ อายตนะ๖ ธาตุ๑๘ แล้วแต่จะเรียกนะ รวมความง่ายๆ ก็คือ รูปกับนาม คือกายกับใจนี่เอง เราเห็นว่ามันเป็นตัวเรา ถ้าเมื่อไหร่เราสามารถพัฒนาจิตใจ จนเราเห็นความจริงนะว่าตัวเราไม่มีหรอก กายนี้ไม่ใช่เราใจนี้ไม่ใช่เรา ไม่มีเราในกายในใจนี้ ไม่มีเรานอกเหนือกายนอกเหนือใจนี้ เราก็จะได้เป็นพระโสดาบัน เป็นผู้เที่ยงต่อการตรัสรู้ในวันข้างหน้า วันหนึ่งก็เป็นพระอรหันต์ เหมือนคนตกลงในกระแสน้ำนะ น้ำพัดพาไปนะ วันหนึ่งไปถึงทะเล ทำยังไงเราถึงจะสามารถเห็นได้ว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรานะ พระพุทธเจ้าท่านเคยสอนบอกว่า คนในศาสนาอื่นเค้าสามารถเห็นได้ว่า กายไม่ใช่เรา มีแต่คำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้นนะ ถึงจะพัฒนาจิตใจเรา จนเราเห็นความจริงว่า จิตก็ไม่ใช่เรา ไม่มีเรา อย่างคนที่เรียนกับหลวงพ่อนะ ซักเดือนสองเดือนเนี่ย สามารถเห็นได้แล้วว่ากายไม่ใช่เรา แต่ส่วนมากก็ยังเห็นว่าจิตเป็นเราอยู่ ถ้าวันใดเห็นว่าจิตก็ไม่ใช่เรา ไม่มีเราในกาย ไม่มีเราในจิต ก็ได้ธรรมะ เป็นปลอดภัย ไม่ไปอบายละ ชีวิตมีความสุข มีความสงบ มีความมั่นคง กิเลสหายไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์ ทีนี้ทำยังไง เราจะสามารถเห็นว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่เรานะ เรามาดูของจริง การดูของจริงของกายของใจเรียกว่า “การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน” การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ต้องเห็นความจริงของกายของใจ ไม่ใช่เห็นกายเห็นใจนะ พวกเราอย่าตื้น บางคนตื้นเกินไป คิดว่าแค่รู้กาย แค่รู้ใจก็คือการทำวิปัสสนากรรมฐาน....ไม่ใช่ วิปัสสนากรรมฐานต้องเห็นความจริงของกายของใจ ความจริงของกายของใจคือไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อนิจจังก็คือสิ่งซึ่งมันเคยมีแล้วมันไม่มี สิ่งซึ่งเคยไม่มีมันกลับมีขึ้นมานี่เรียกว่า อนิจจัง ทุกขัง คือ มันทนอยู่ไม่ได้นะ มันถูกสภาวะที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยของมันเนี่ยเคลื่อนไหวเปลี่ยนไป พอเหตุของมันเปลี่ยนนะ ตัวมันทนอยู่ไม่ได้นะ ถูกบีบคั้น ทนอยู่ไม่ได้ในภาวะอันใดอันหนึ่ง เรียกว่า ทุกขัง อนัตตา ก็คือ มันจะเกิดขึ้น มันจะตั้งอยู่ หรือมันจะดับไป เป็นไปเพราะเหตุ ไม่ใช่เพราะเราสั่ง เราบังคับไม่ได้ อยู่นอกเหนือการบังคับ นี่เรียกได้ว่าอนัตตา ถ้าสามารถเห็นได้ว่า กายนี้ใจนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นเพียงมุมใดมุมหนึ่ง ไม่ต้องเห็นทั้งสามอย่าง เห็นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง จิตก็สามารถปล่อยวาง ความยึดถือกายยึดถือใจได้ในที่สุด แต่ในเบื้องต้นก็จะเห็นก่อนว่า กายนี้ใจนี้ไม่ใช่เรา ถึงจะเห็นว่าไม่ใช่เราแต่ก็ยังไม่ปล่อยวาง พระโสดาบันเนี่ย ท่านเห็นความจริงแล้วว่าตัวเราไม่มี กายนี้ไม่ใช่เรา ใจนี้ไม่ใช่เรา กายนี้เป็นวัตถุธาตุที่ยืมโลกมาใช้ จิตใจก็เป็นธาตุเรียกว่าธาตุรู้ ธาตุรู้เนี่ยเกิดดับๆ สืบเนื่องกันไปเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่ตัวเรา แต่ท่านยังยึดถืออยู่นะ ยังเห็นว่า กายนี้ใจนี้ยังนำความดีงามมาให้ได้ ยังรักมันอยู่ ยังนำความสุขมาให้ได้ ต้องเจริญสติต่อไปอีกนะ รู้กายรู้ใจๆ เรื่อยไป ถึงวันหนึ่ง ถึงจะเห็นความจริงว่า กายนี้ใจนี้มีแต่ทุกข์ล้วนๆ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะทนอยู่ไม่ได้ ถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะว่าไม่ใช่ตัวเรา บังคับมันไม่ได้ อยู่นอกเหนืออำนาจบังคับ ถ้าเห็นอย่างนี้นะก็จะปล่อยวาง ปล่อยวางเป็นพระอรหันต์ พระโสดาบันเนี่ยไม่ได้ยากเท่าไหร่ แค่รู้ว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่เรา ไม่มีเราในกายในใจ แต่ยังยึดถืออยู่ ทำไมไม่เห็นว่าเป็นเรา แล้วยังยึดถือได้ คล้ายๆ คนที่ยืมของคนอื่นเค้ามาใช้นะ สมมุติหลวงพ่อไปยืมรถยนต์ ของคุณอนุรุธมาใช้ซักคันนึง โอ้...รถคันนี้มันโก้จังนะ เรามีแต่รถกระบะ นี่รถเค้าสวย ยืมมาใช้นาน จนหลงไปว่าเป็นรถของเราเอง ยืมเค้ามานาน จนเราคิดว่าเป็นของเราเอง เหมือนกายนี้ใจนี้ เรายืมของโลกมาใช้ ยืมมานานจนสำคัญผิดว่าเป็นของเราเอง วันหนึ่งเป็นพระโสดาบัน รู้แล้วว่ากายนี้ใจนี้เป็นของโลกนะไม่ใช่ของเรา ไม่มีเราหรอก ก็จะคล้ายๆคนขี้งกอ่ะ รู้แล้วว่ารถคันนี้ไมใช่ของเรานะ แต่มันดีนะ เอาไว้ก่อน เพราะฉะนั้นพระโสดาบันยังมีอารมณ์ขี้งกอยู่ ยังไม่ปล่อยวางกายวางใจจริงนะ ต้องมาเรียนรู้กายรู้ใจให้หนักเข้าอีก ดูไปเรื่อย วันหนึ่งเกิดปัญญาขึ้นมา ก็เห็นมันเป็นแต่ทุกข์ล้วนๆเลย ไม่ใช่ของดีของวิเศษอีกต่อไป ก็ยอมคืนเจ้าของ คืนให้โลกไป นี่ ฮ นกฮูกนะ มีหลัง ฮ นกฮูกอีก after ฮ นกฮูก คือภาวะซึ่งมันสิ้นทุกข์ไปแล้วนะ จิตใจซึ่งมันสิ้นทุกข์ไปแล้วนะ มันจะบอกว่ามีความสุขมันก็ไม่เหมือนนะ มันไม่รู้จะเทียบกับอะไร มันสุขเพราะไม่มีอะไรเสียดแทง เป็นสุขเพราะเป็นอิสระ จิตใจปลอดโปร่งโล่งเบาอยู่ทั้งวันทั้งคืน ทั้งหลับทั้งตื่นนะ มันมีแต่ความสุขอย่างงั้น สุขเพราะพ้นความปรุงแต่ง สุขเพราะพ้นกิเลส สุขเพราะไม่มีภาระที่จะต้องไปยึดถืออะไร ใจมันโล่ง

สารคดีสั้น "แดนดินถิ่นพุทธภูมิ"พอเห็นความจริงได้ ละความเห็นผิดว่า กายกับใจเป็นเรา ก็เป็นพระโสดาบัน #ถ้าเมื่อไหร่เห็นว่ากายนี้เป็นทุกข์ล้วนๆและปล่อยวางความยึดถือกายได้ ก็ได้พระอนาคามี การเห็นความจริงของกายของใจ นั่นแหละ เรียกว่า มีดวงตาเห็นธรรม ธรรมะคืออะไร ธรรมะก็คือการที่เราเห็นว่ากายกับใจ รูปนาม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พระโสดาบันที่ว่ามีดวงตาเห็นธรรมนั้น ท่านเห็นว่าทั้งรูปทั้งนามที่เกิดขึ้นมาล้วนแต่ดับไปทั้งสิ้น ไม่มีตัวเราหรอก นี่เรียกว่าดวงตาเห็นธรรม คือเห็นความจริงนั่นแหละ ความจริงของรูปของนาม ของกายของใจ พอเห็นความจริงได้ ละความเห็นผิดว่า กายกับใจเป็นเรา ก็เป็นพระโสดาบัน รู้กายรู้ใจต่อไปอีกนะ จนเห็นความจริง ของกายลึกซึ้งประณีตยิ่งขึ้นไปอีก กายนี้เป็นทุกข์ล้วนๆ นะ ไม่ใช่กายนี้เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง พวกเราเห็นแต่ว่ากายนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง จึงปล่อยวางไม่ได้จริง มันจะดิ้นหาแต่ความสุขและดิ้นหนีความทุกข์ไปเรื่อยๆ ถ้าเมื่อไหร่เราเห็นว่ากายนี้เป็นทุกข์ล้วนๆ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย มันจะปล่อยวางความยึดถือกาย ถ้าปล่อยวาง ความยึดถือกายได้ ก็ได้พระอนาคามี สิ่งที่เรียกว่ากายนี้ ถ้ากระจายออกไปให้ละเอียดยิ่งขึ้น ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นั่นเอง คือส่วนที่เป็นรูปธรรม ถ้ากระทั่งตาเรายังไม่ยึดถือ ใจมันก็จะไม่ยึดถือรูป ถ้ากระทั่งหูก็ไม่ยึดถือ ใจมันก็ไม่ยึดถือเสียง มันไม่ยึดถือจมูก มันก็ไม่ยึดถือกลิ่น ไม่ยึดถือลิ้น ก็ไม่ยึดถือรส ไม่ยึดถือกาย ก็ไม่ยึดถือโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้นจิตใจจะเป็นกลางต่อ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ รวมทั้งความคิดคำนึงถึงรูปเสียงกลิ่นรสและโผฏฐัพพะอันเป็นธรรมารมณ์ที่เรียกว่า 'กามธรรม' ด้วย ตรงที่ใจเป็นกลางต่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และกามธรรมนี้เป็นภูมิของพระอนาคามี เพราะเมื่อไม่ยินดีไม่ยินร้ายในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและกามธรรม ก็คือปราศจากกามราคะ และ ปฏิฆะนั่นเอง จิตพ้นจากกามภูมิ หรือกามาวจรภูมิ เพราะฉะนั้นพระอนาคามีจะไม่เวียนมาสู่กามภพ คือไม่เกิดเป็นสัตว์นรก ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่เกิดเป็นอสุรกาย ไม่เป็นเปรต ไม่เป็นมนุษย์ ไม่เป็นเทวดา แต่จะไปเกิดเป็นพรหม เป็นพรหมอัตโนมัตินะ อย่างต่ำที่สุดก็เป็นพรหมที่เรียกว่าพรหมปาริสัชชา อันเป็นพรหมบริวารของท้าวมหาพรหม พรหมมีทั้งหมด 20 ชั้น เป็นรูปพรหม 16 ชั้น เป็นอรูปพรหม 4 ชั้น ไม่ใช่ว่าพระ อนาคามีทุกองค์จะต้องอยู่สุทธาวาสนะ เข้าใจผิด สุทธาวาส เป็นภูมิของพระอนาคามีที่ได้ฌานที่ 4 แล้วมีอินทรีย์ 5 แก่กล้า คือมีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ หรือปัญญาแก่กล้า ถ้าได้ฌาน 4 เฉยๆ อินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ก็ไปเป็นพรหมชั้นเวหัปผลา ไม่ต้องรู้ชื่อก็ได้นะ เดี๋ยวฟังแล้วก็ลืม ฟังเล่นๆ ไปอย่างนั้นแหละ เพราะฉะนั้นภูมิที่พระอนาคามีไปเกิดเนี่ย เป็นพรหมชั้นที่ 1 ยันชั้นที่ 20 ไปได้ตลอด ถ้าจะเว้นก็เว้นอยู่ชั้นเดียวคือพรหมลูกฟัก หรือ อสัญญสัตตาพรหม เพราะไม่สามารถเจริญวิปัสสนาได้อีก จะไปเป็นพรหมชั้นใดก็แล้วแต่ว่าได้ฌานชั้นไหน และอินทรีย์แก่กล้าไหม ทำไมต้องไปเป็นพรหม ก็เพราะว่าไม่ยึดถือในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นกามคุณอารมณ์นั่นเอง ทีนี้ถ้าพระอนาคามีองค์ไหนไม่นิ่งนอนใจนะ ได้พระอนาคามีไม่ยึดกายแล้ว ก็ยังไม่พ้นทุกข์จริง ยังต้องปฏิบัติต่อไปอีก การปฏิบัติก็จะบีบวงกระชับเข้ามาที่จิต จิตจะรู้เข้ามาที่จิต จะรวมเข้ามาที่จิตอันเดียว ตรงนี้จะมาเห็นอริยสัจแห่งจิต ถ้าเห็นอริยสัจ แห่งจิต ก็พ้นทุกข์ พ้นการเวียนว่ายตายเกิด เพราะเมื่อหมดความยึดถือจิต ก็จะไม่ยึดถือ อะไรในโลกอีก ธรรมะขั้นแรก จะเห็นว่าไม่มีตัวเรา ตัวเราหายไป พอมันเข้ามาถึงจิตถึงใจแล้ว อาสวะกิเลส ที่ห่อหุ้มจิตอยู่ จิตของเราจะถูก อาสวะห่อหุ้มอยู่ อาสวะย้อมอยู่ แทรกย้อมอยู่ ตรงที่ขณะแห่งอริยมรรคเกิดขึ้น อริยมรรคจะแหวก อาสวะอันนี้ขาดออกจากกัน อาสวะนี้ออกแล้วจิตจะเข้าสัมผัสพระนิพพาน สองสามขณะ พวกที่มีบารมีแก่กล้าสัมผัสพระนิพพานสามขณะ พวกที่ไม่แก่กล้าสัมผัสสองขณะไม่เหมือนกัน บุญบารมียังไม่เท่ากัน โสดาบันไม่เท่ากันเลย โสดาบางคนเกิดอีกชาติเดียวก็จะจบละ บางคนอีกสามชาติจะจบไม่เกิดอีก อีกบางคนเจ็ดชาติถึงจะไม่เกิด กำลังมันไม่เท่ากัน แต่ว่าล้างความเห็นผิดได้เท่ากันว่าตัวตนไม่มี พอถอยออกจากสภาวะนี้ จิตจะกลับเข้ามาอยู่ยังความเป็นมนุษย์ปกติอย่างนี้แหละ แล้วมันจะทวนเข้าไปดูจิต มันจะทวนอัตโนมัติเข้าไปดู มันจะพบว่าจิตนี้ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอีกต่อไป ร่างกายนี้ก็ไม่ใช่ตัวใช่ตนอีกต่อไป ที่ไหนๆ ก็ไม่มีตัวตนอีกต่อไป จะกลวงๆ ว่างจากความเป็นตัวตนไปหมด อย่างคำว่าจิตว่าง จิตว่างไม่ใช่ว่างเปล่า ว่างเปล่านั้นมันหมายถึงว่า ไม่มีอะไรเลย มันเป็นมิจฉาทิฏฐิไม่ใช่ทาง คำว่าว่างว่าง ว่างจากความเป็นตัวเป็นตน สภาวะนั้นมีอยู่แต่ไม่ใช่ตัวใช่ตน ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เพราะงั้นจะมีความรู้สึกว่ามันกลวงๆ มันว่างๆ ไม่มีตัวไม่มีตน แต่มีการกระทำ ยังมีการส่งกระแสจากความไม่มีตัวไม่มีตน จิตที่ไม่ใช่ตัวเรา และยังส่งกระแสไปทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปยึดอารมณ์ได้อีก เรียกว่ามีการกระทำแต่ไม่มีผู้กระทำ จะรู้ชัดเลยว่าการกระทำมีอยู่แต่ไม่มีผู้กระทำ จะเห็นอย่างนี้